บทเพลงคาราบาวกับการสะท้อนค่านิยมในสังคม2

บางคนคิดเพียงว่า เพลงก็คือเพลง จะสามารถสะท้อนสังคมได้อย่างไรกัน แต่จะมีสักกี่คนที่เชื่อว่า เพลงหนึ่งเพลง จะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของสังคมในขณะนั้นได้ ในแต่ละยุคสมัยการสร้างสรรค์บทเพลงขึ้นมา ย่อมมีปัจจัย แรงบันดาลใจต่างๆ ที่ทำให้ผู้แต่งหยิบยกขึ้นมาเพื่อเรียบเรียงเป็นบทเพลง บ้างนึกจินตนาการถึงสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนรัก ที่สรรค์สร้างออกมาเป็นเพลงรัก หวานๆ ซึ้งๆ แต่ใช่ว่าเพลงจะเป็นเพลงรักเสมอไป ลึกๆ แล้ว เมื่อฟังแล้วคิด วิเคราะห์ตาม เราจะได้ทราบถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ในบทเพลง รวมถึงค่านิยม ที่ใครหลายๆ คน ไม่คิดว่าจะพบในบทเพลงด้วย

          ในช่วงหนึ่ง เพลงที่สามารถสะท้อนสังคม และค่านิยมได้ มักจะเป็นบทเพลงที่ใครๆ ต่างเรียกว่า เพื่อชีวิต โดยบทเพลงเหล่านี้ได้รับการสรรค์สร้างมาจากสภาพแวดล้อม สังคม และชีวิตของผู้แต่งในขณะนั้น จึงสามารถสะท้อนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ตั้งแต่ชื่อเพลง จนกระทั่งในเนื้อเพลง โดยเพลงเพื่อชีวิต ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากที่สุด คือ เพื่อชีวิตของคาราบาว ที่ผู้คนนิยมเป็นอย่างมาก และยังฮิตติดหูมาจนถึงปัจจุบัน ลองมาดูกันว่า บทเพลงใดของคาราบาว ที่สามารถสะท้อนค่านิยมต่างๆ ในสังคมให้ผู้ฟังได้รับรู้บ้าง

  1. เพลง แม่สาย พ.ศ.2531 เนื้อความในสบทเพลง กล่าวถึง ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่ถูกพ่อแม่ขายให้เป็นโสเภณีในเมืองหลวง ด้วยความรักและกตัญญูต่อบุพการี เธอจึงต้องยอมแลกอิสระภาพและความสุข ไปกับการเป็นโสเภณี สะท้อนให้เห็นว่าในยุคสมัยนั้น ในชนบทเต็มไปด้วยความยากจนและแร้นแค้น จนกระทั่งพ่อแม่ต้องตัดสินใจขายลูกสาว เพื่อให้ตนเองได้มีกินมีอยู่ ส่วนลูกนั้น ต้องยอมจำนนด้วยเพียงวเพราะความกตัญญุ โดยไม่คำนึงถึงความลำบากกายและทุกข์ใจของตนเอง อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาของโสเภณีที่มีมากในสมัยนั้นด้วย
  2. เพลง มหาลัย พ.ศ.2527 เป็นบทเพลงที่เนื้อหายังคงกินใจผู้ฟังตั้งแต่ยุคนั้นมาจนถึงยุคนี้ ซึ่งก็ผ่านมาแล้ว 35 ปี เนื่องจากเนื้อหาของบทเพลง ได้กล่าวถึงนักศึกษาที่เรียนจบแล้วแต่ยังไม่มีงานทำ เพราะแพ้เส้นสายต่างๆ ทำให้ตนยังไม่สามารถหางานได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังคงพบเจออยุ่ในปัจจุบัน เรื่องของเส้นสายที่พบได้ในทุกหน่วยงานทั่วประเทศไทย รวมถึงนักศึกษาที่ตั้งใจเล่าเรียน แต่สุดท้ายก็ตกงาน ถึงว่าเปิดเพลงนี้ทีไร สะกิดใจให้วัยเรียนลุกขึ้นโชว์พลังเสียงกันอย่างคึกคนอง
  3. เพลงวิชาแพะ พ.ศ.2534 หลายคนคงงุนงงว่า วิชาแพะมันคืออะไร หรือบางคนก็เข้าใจดี แพะในบทเพลงนี้หมายถึง แพะรับบาป เป็นเพลงที่จิกกัดสังคมได้อย่างแยบยล ที่แฝงไปด้วยความงดงามของภาษาที่ผู้แต่งประพันธ์ออกมาเป็นบทเพลง ซึ่งเพลงนี้สามารถสะท้อนปัญหาของสังคมไทยเรื่องการจับแพะ หรือการยอมเป้นแพะได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่าบทเพลงต่างๆ ไม่ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อความจรรโลงใจเท่านั้น แต่ยังสามารถให้เราได้ศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ หรือสภาพสังคม ค่านิยมในแต่ละยุคสมัยได้อีกด้วย